นอกจากเรื่องฤกษ์ยามและลำดับพิธีแต่งงาน ที่อาจทำให้บ่าวสาวเชื้อสายจีนสับสนแล้ว หลาย ๆ คนก็ยังมีคำถามเกี่ยวกับขบวนขันหมากแบบจีน ว่าเราจะต้องเตรียมข้าวของอะไรบ้าง และแต่ละอย่างจะใช้ส่วนไหนในขบวน วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
ขันหมากจีน 1 : พานแหวนหมั้น
ขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวจะนำด้วยเถ้าแก่สู่ขอ พ่อแม่ของเจ้าบ่าว และเจ้าบ่าวค่ะ
ขันหมากจีน 2 : พานสินสอด
ต่อด้วยพานสินสอดทองหมั้น เงินสด หรือโฉนดที่ดิน ที่ถือโดยญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว ขนทรัพย์สินกันมาเท่าไหร่ ให้จัดเต็มบริเวณหัวแถวได้เลยค่ะ
ขันหมากจีน 3 : พานส้ม
พานส้มจะถือโดยเพื่อนหรือญาติเจ้าบ่าว ถือเป็นการอวยพรให้โชคดี จำนวนส้มจะใช้เป็นเลขคู่เพื่อความเป็นมงคล เช่น พานส้ม 24 ลูก 2 พาน และอย่าลืมติดติดอักษรซังฮี่สีแดงทุกลูกด้วยนะคะ
ขันหมากจีน 4 : พานอาหารคาวหวาน
ลำดับถัดมา เพื่อนหรือญาติเจ้าบ่าวจะถือพานขนมมงคลอย่างขนมจันอับและขนมเปี๊ยะ ส่วนพานหมี่มงคลจะยืนอยู่ระหว่างขนมทั้งสอง ซึ่งมีความหมายถึงชีวิตยืนยาว อายุมั่นขวัญยืน นอกจากเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังเอาไว้แจกญาติและเพื่อน ๆ หลังจบพิธีแต่งงานได้ด้วยค่ะ
ขันหมากจีน 5 : เหล้าจีนและเทียนแดง
ปิดท้ายขบวนขันหมากด้วยเหล้าจีน ซึ่งถือเป็นเหล้ามงคล 2 ขวด และเทียนแดง 2 คู่ ถือโดยเพื่อนหรือญาติเจ้าบ่าวเช่นกันค่ะ
Cr. FAIPHOTO
สิ่งของในช่วงพิธีแห่ขันหมาก สำหรับฝ่ายเจ้าสาว
ในพิธีหมั้นแบบจีน ฝั่งเจ้าสาวจัดเตรียมสิ่งของมงคลวางไว้บนโต๊ะในห้องพิธี ตั้งแต่ก่อนขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวจะเริ่มเดินมา ของส่วนใหญ่ใช้สื่อความหมายมงคลเช่นเดียวกัน โดยสิ่งของที่ฝั่งเจ้าสาวจะต้องเตรียมมีดังนี้ค่ะ
- เอี๊ยมครบชุด และสร้อยเงินสร้อยทอง ใส่ถาดแดง
- ต้นฉุงเช่าและน้ำตาลทรายแดง ใส่ถาดแดง
- กล้วยหอม 1 เครือ ติดซังฮี่ ให้ความหมายเรื่องการมีลูกหลานสืบสกุล
- ส้ม 48 ลูก ติดซังฮี่
- ขนมมงคล 4 กล่อง
***ทุกถาดเสียบใบทับทิมเป็นเคล็ดว่าให้มีโชค
การจัดขบวนขันหมากที่แนะนำด้านบนนี้เป็นแบบประยุกต์ เหมาะกับบ่าวสาวยุคใหม่ เนื่องจากตัดของสด เช่น ขาหมู เป็ด ไก่ หัวใจ เครื่องใน ออกไป เพราะมีความยุ่งยากในการเก็บรักษาระหว่างวันไม่ให้ของสดเสีย โดยอนุโลมให้แต่ละฝ่ายใส่ซองเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อแทนการซื้อของสดนั้นได้ค่ะ
นอกจากนี้ ความเชื่อของแต่ละบ้านอาจแตกต่างกันไป บ่าวสาวสามารถปรับเพิ่มของมงคลในขันหมาก เพื่อความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้านได้ค่ะ