เคยได้ยินคำว่า “รักไม่มีพรมแดน” กันไหมคะ ความรักสามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะต่างชาติ ต่างภาษา ต่างอายุ เราจึงเห็นคู่รักต่างสัญชาติมากมายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหากคู่รักคู่ไหนที่มีสัญชาติต่างกัน และต้องการจดทะเบียนสมรสกับต่าชาติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องเตรียมเอกสารอะไร มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เรามีคำตอบค่ะ
จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ เตรียมเอกสารอย่างไร ?
เมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันและต้องการจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายไทย ต้องเตรียมเอกสารสำคัญ ดังนี้
สำหรับชาวไทย
- คำร้องขอจดทะเบียนสมรส
- บัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทางไทย
- ใบโสดออกจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ต่างประเทศประจำประเทศไทย ซึ่งออกไม่เกิน 3 เดือน โดยแปลเป็นภาษาไทย และนำมารับรองนิติกรณ์เอกสารที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล (กรณีจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ)
- หากเคยจดทะเบียนหย่ามาก่อน ต้องนำใบสำคัญการหย่าตัวจริงหรือใบทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวหย่า พร้อมสำเนา 1 ชุด (กรณีที่เป็นหญิงไทยต้องหย่ามาแล้วอย่างน้อย 310 วัน หากหย่ายังไม่ถึง 310 วัน ไม่สามารถจดทะเบียนตามกฎหมายไทยได้)
- หากเคยเปลี่ยนชื่อมาก่อน ใช้ใบเปลี่ยนชื่อตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
- บิดา-มารดา มาให้ความยินยอม (กรณีคู่สมรสอายุต่ำกว่า 20 ปี)
- พยาน 2 คน (ฝ่ายละ 1 คน)
สำหรับชาวต่างชาติ
- หนังสือเดินทาง
- ใบโสดที่ออกจากทางการของประเทศตนเอง โดยสามารถขอได้ 2 ทาง ดังนี้
1. รับรองนิติกรณ์เอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศของประเทศต้นทาง และสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศนั้น หลังจากนั้น แปลเป็นภาษาไทย และรับรองนิติกรณ์เอกสารที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล เพื่อนำมาจดทะเบียนที่ประเทศไทย
2. รับรองเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศ ของประเทศต้นทาง เพื่อนำไปประกอบการจดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติไทย ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศนั้น
- หากเคยจดทะเบียนหย่ามาก่อน ต้องนำใบสำคัญการหย่าตัวจริงหรือใบทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวหย่าพร้อมสำเนา 1 ชุด
- บิดา-มารดา มาให้ความยินยอม (กรณีคู่สมรสอายุต่ำกว่า 20 ปี)
- พยาน 2 คน (ฝ่ายละ 1 คน)
สถานที่จดทะเบียนสมรส จดที่ไหนได้บ้าง
ไม่ต้องกังวลว่าการจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติจะยุ่งยาก เพราะสามารถจดได้หลายสถานที่ ดังนี้
- อยู่ในประเทศไทย สามารถจดทะเบีนสมรสที่สำนักงานทะเบียนอำเภอ และสำนักงานเขต ทั่วประเทศไทย โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาเดิม
- อยู่ในต่างประเทศ สามารถจดทะเบียนสมรสได้ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศนั้น ๆ
ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสกับต่างชาติ
สำหรับคู่รักที่กำลังจะจดทะเบียนสมรสกัน ในกรณีที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
- ยื่นขอใบรับรองความเป็นโสดจากสถานทูตต่างชาติประจำประเทศไทย พร้อมนำไปแปลเป็นภาษาไทยและนำไปขอใบรับรองตราประทับจากกระทรวงการต่างประเทศ
- จดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ พร้อมล่าม และพยาน รวมถึงพ่อแม่ในกรณีที่คู่สมรสยังไม่บรรลุนิติภาวะ
- หลังจากได้ใบสำคัญการสมรส คร2 และ คร3 จากนายทะเบียนเรียบร้อยแล้ว นำเอกสารทั้งหมดไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสะดวกต่อการนำเอกสารไปรับการประทับตรารับรองจากกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง
- นำทะเบียนสมรส คร2 คร3 ที่ได้รับการประทับตรารับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ ไปยื่นขอวีซ่า หรือทำนิติกรรมต่าง ๆ ต่อไป
เรื่องน่ารู้สำหรับคู่สมรสต่างสัญชาติ
คู่สมรสต่างสัญชาติที่ต้องการจดทะเบียนสมรสกัน มีข้อควรรู้ดังนี้
- หากมีลูก ลูกที่เกิดมาถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่วันที่พ่อและแม่จดทะเบียนสมรสกัน
- สำหรับคนไทยที่จะไปจดทะเบียนสมรสในสถานทูตของประเทศอื่น ภายใต้กฎหมายของประเทศอื่น สามารถทำได้โดยนำเอกสารที่จดทะเบียนทั้งหมดแปลเป็นภาษาไทย แล้วมายื่นเรื่องดำเนินการรับรองที่สำนักงานเขตหรืออำเภอที่มีทะเบียนบ้านอยู่
- หากสมรสกับชาวต่างชาติ ตามกฎหมายของต่างประเทศ ไม่สามารถทำเรื่องหย่าที่ประเทศไทยได้
- แต่ถ้าหากสมรสกับชาวต่างชาติภายใต้กฎหมายไทย สามารถทำเรื่องหย่าที่สำนักงานเขตหรืออำเภอในไทย หรือสถานทูตไทยได้
แม้จะต้องใช้เอกสารต่าง ๆ มากกว่าการจดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติไทย แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องยุ่งยากในการจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ ในเมื่อฟันฝ่าอุปสรรคกันมาจนตัดสินใจใช้ชีวิตรวมกันได้แล้ว เพิ่มขั้นตอนให้ถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ดี จริงไหมคะ