Plaza Athénée Bangkok สถานที่แต่งงานตรงใจ ใช้เนรมิตงานในฝัน
ช่วงแรกสุดผมไปดูโรงแรมมาหลายที่เลยครับ แต่พอพิจารณาดูแล้ว โรงแรม Plaza Athénée Bangkok (พลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ) น่าจะอำนวยความสะดวกเรื่องที่จอดรถได้ดี และยังมี Crystal Hall ซึ่งรองรับจำนวนแขก 900 กว่าคนของเราได้ ไม่แน่นจนเกินไป ในแง่ของตัวห้องก็มีเพดานสูง ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง ถ่ายภาพแล้วไม่มีองค์ประกอบอื่นใดติดเข้าไปในเฟรมครับ
ผสมผสานความเป็นไทยลงไปในงานฉลอง
ส่วนตัวผมชอบความเป็นไทยอยู่แล้ว และเห็นว่างานแต่งงานส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแพทเทิร์นเดียวกันหมด เลยอยากให้แขกได้เห็นว่า ที่จริงความเป็นไทยก็สามารถเอามาประยุกต์ใช้ในงานเลี้ยงฉลองตอนเย็นได้ เพราะฉะนั้นการตกแต่งหรือแม้แต่ดนตรีก็จะเป็นไทยทั้งหมดครับ
ในส่วนของธีมสีเราไม่ได้กำหนด เพราะตั้งใจจัดงานให้แขกได้มาสนุก มาเอนจอย ไม่อยากให้สีของชุดกลายเป็นภาระ เวลาแขกมาถามก็เลยจะบอกเป็นมู้ดแอนด์โทนไป เพื่อให้เขาได้เห็นภาพของงาน
การจัดงานฉลองเย็นที่มีความเป็นไทย ถือเป็นโจทย์ใหม่สำหรับแพลนเนอร์มาก ตอนแรกเราอยากได้แบบไทยจ๋ากว่านี้ อารมณ์เหมือนละครเรื่องพิษสวาท ย้อนไปสมัยอยุธยา สุโขทัย แต่แพลนเนอร์เขากลับไปทำการบ้านมา ตีโจทย์มาว่าเราน่าจะเลือกเป็นช่วงไทยสมัยรัตนโกสินทร์ดีกว่า เอาทรงเรขาคณิตในยุคนั้นมาประดับ ออกมาเป็นงานร่วมสมัยที่เอาลวดลายไทยมาทำให้โมเดิร์นขึ้นครับ
ของชำร่วยเราคิดอยู่นานพอสมควรว่าจะเลือกใช้อะไรดี โชคดีมีเพื่อนอยู่กรมธนารักษ์ บวกกับผมเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาฯ ซึ่งตอนนั้นมีงานจุฬาฯ 100 ปี โรงกษาปณ์ทำเหรียญเฉลิมฉลองจุฬาฯ ครบ 100 ปีพอดี ผมเลยเลือกใช้เหรียญจุฬาฯ 100 ปีด้วย ด้านนึงของเหรียญก็จะมีภาพของ ร.5 และ ร.6 มีความหมายที่ดีครับ
อีกจุดนึงที่เราเน้นคือโลโก้ ซึ่งเป็นลวดลายไทยที่เราภูมิใจมาก สะท้อนความหมาย และสื่อนัยยะสำคัญถึงตัวตนของบ่าวสาว เพราะเวลาที่ผมมองหน้าเจ้าสาวผมจะนึกถึงดอกกุหลาบ ส่วนเจ้าสาวมองหน้าผมก็จะนึกถึงสิงโต เราเลยประยุกต์ให้เป็นไทย กลายเป็นภาพสิงห์เดินอยู่บนกิ่งไม้ กำลังแหงนมองกุหลาบที่อยู่ด้านบนครับ
อบอุ่น มีความหมายทุกรายละเอียด
แรกสุดเราตกแต่งงานให้แขกเดินเข้ามาแล้วรู้สึกเหมือนมาบ้าน เขาจะเจออุโมงค์ที่เราสร้างขึ้นมาเป็นเรือนไทยร่วมสมัยก่อน มีดอกรักห้อยประดับ เกาะกลางเป็นสระบัว ส่วนริมด้านข้างเป็นสวนดอกกุหลาบ
ถัดจากนั้นจะเป็นจุดลงทะเบียน แกลอรี่ก็จะอยู่ตรงนี้ด้วย แล้วถึงจะไปเจอแบ็คดรอป การวางโฟลว์แบบนี้ดีเพราะแขกเราเยอะ ช่วงถ่ายรูปถ้าคิวยาว ก็จะเหมือนมี Walk way ให้คนได้ชื่นชมระหว่างรอ
ทุกภาคของไทย รวมไว้ให้เป็นหนึ่งเดียว
สำหรับด้านใน เราตกแต่งโดยผนวกรวมความเป็นไทยในแต่ละภาค ตรงเวทีถ้าหากมองหน้าตรงเข้ามา จะเป็นเหมือนตัวแทนของภาคกลาง ซึ่งคือหลังคาวัดพระแก้วตอนกลางคืน มีความเป็นเมือง เน้นความสวยอร่ามตาด้วยไฟสีเหลืองและทอง มีดวงดาวเหลือบแสง สะท้อนถึงหนังตะลุงของภาคใต้ ส่วนภาคเหนือที่เอาเข้ามาจะมีการแขวนตุงอยู่บนอากาศครับ
ช่วงเปิดตัวของเราจะมีการแสดงรำเข้ามาเพิ่ม ได้อาจารย์จากศิลปากรที่รู้จักกันมาช่วยออกแบบท่ารำให้ หลังจากบ่าวสาวขึ้นเวที ก็จะเชิญประธานขึ้นมากล่าวอวยพร สิ่งที่เป็นไฮไลท์อีกอย่างของงานคือไม่มีการตัดเค้ก เพราะพิธีการต่างๆ เราอยากให้เป็นไทย จึงปรับเป็นการแขวนตุงโดยจะมีทีมรำอีกชุด ที่นางรำจะนำตุงแห่พานมามอบให้บ่าวสาวด้วย สะท้อนถึงการเริ่มต้นใหม่ และใช้ระบบไฮดรอลิค ให้ตุงลอยขึ้นไปอยู่ด้านบนครับ
เสร็จจากช่วงนี้จะเป็นการมอบขนมให้กับคุณพ่อคุณแม่ และประธาน ซึ่งเราเปลี่ยนจากคัพเค้กเป็นขนมไทย 9 อย่าง โดยหากพูดถึงภาพรวมงานทั้งหมด ผมประทับใจในทีมแพลนเนอร์มากๆ ทั้งการออกแบบงาน และรันคิวได้อย่างมืออาชีพ ส่วนเรื่องอาหารที่เรากังวลว่าแขกจะมาเยอะแล้วอาหารไม่พอ และได้มีการสั่งเผื่อไว้ล่วงหน้า ก็กลายเป็นว่าผลลัพธ์ออกมาดีมาก บางคนมาถึงสองทุ่มแล้วอาหารก็ยังไม่หมด ส่วนใหญ่ฟีดแบคว่าประทับใจในความอลังการของซีนแขวงตุง มีการรำ การแสดง ถือเป็นอะไรที่แปลกใหม่ ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้ทั้งฟีลลิ่งและบรรยากาศที่ดีครับ
แนะนำบ่าวสาว
ตีโจทย์ตัวเองให้ได้ก่อน : ว่าเราอยากจัดงานธีมไหน ให้ความหมายและความสำคัญกับการตกแต่งอย่างไร ในระดับไหนบ้าง พอได้คำตอบของสิ่งเหล่านี้แล้ว ลำดับต่อไปคือการหาแพลนเนอร์ หาทีมที่สอดรับกับสไตล์ที่เราต้องการได้ครับ