เริ่มจากสร้างความคุ้นเคยให้แขกชาวพุทธ ด้วยพิธีแห่ขันหมาก
ต้องขอเกริ่นก่อนนิดนึงค่ะ ว่าจริงๆ แล้วตัวกิ๊ฟท์เองก็เคยเป็นคนพุทธมาก่อน แต่ก่อนหน้าจะถึงวันแต่งงานสักประมาณ 2 ปี กิ๊ฟท์ได้ทำการเปลี่ยนศาสนา เพื่อเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับความเชื่อและวัฒนธรรมของคุณเจ้าบ่าว และเพื่อให้เข้าใจถึงองค์ประกอบต่างๆ ของศาสนาอิสลามมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในวันจัดงานจริงที่ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย (Islamic Center of Thailand) เราเลยมีการประยุกต์ให้พิธีหลักเป็นพิธีอิสลาม แต่ก็มีการนำพิธีบางส่วนแบบที่คนพุทธคุ้นเคยมาใช้
ลำดับงานจะเป็นช่วง 8 โมง เราจะมีแห่ขันหมากและกั้นประตูกันตามปกติ แต่อาจจะไม่ได้มีกลองยาวหรือการโห่ คือเล่นสนุกสนานตามด่านได้ แต่ไม่เสียงดังค่ะ จังหวะนี้เจ้าสาวก็ต้องขึ้นไปซ่อนตัวก่อน
ต่อด้วยพิธีนิกะห์แบบครบสูตร
สำหรับการซ่อนตัวนี้ กิ๊ฟท์จะนั่งคอยคุณเจ้าบ่าวและขบวนอยู่ที่ชั้นสองของมัสยิด ขบวนก็จะค่อยๆ เดินขึ้นบันไดมาตามลำดับ พอเข้าช่วง 9 โมง ก็จะเป็นพิธีนิกะห์ ซึ่งเป็นพิธีมงคลสมรสของอิสลาม โต๊ะอิหม่ามก็จะกล่าวไปตามพิธี เจ้าบ่าวจะต้องไปนั่งอยู่ในพรม (คุณกิ๊ฟท์บอกว่าจริงๆ ช่วงนี้เจ้าสาวแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลยค่ะ เพราะเจ้าบ่าวจะต้องเป็นคนรับโอวาท ปฏิญาณตน ส่วนเจ้าสาวก็จะนั่งสวยๆ อยู่วงนอก แต่งานนี้เพื่อให้เกียรติคุณพ่อคุณแม่เจ้าสาวที่เป็นคนพุทธ และจะได้เข้าใจว่าเขาพูดอะไรกับฝ่ายเจ้าบ่าวบ้าง ก็เลยได้รับเชิญให้เข้าไปนั่งในวงด้วย)
หลังจากนั้นพิธีการก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ ค่ะ จนมาถึงช่วงที่สำคัญที่สุด นั่นคือช่วงที่คนทำพิธีจะถามเจ้าบ่าวว่า จะรับนิกะห์เจ้าสาวด้วยสินสอดตามที่ได้ตกลงกันไหม (ที่ต้องเป็นแบบนี้เพราะความจริงแล้วทางศาสนาต้องการให้เจ้าบ่าวเตรียมเงินขวัญถุงในการขอเจ้าสาวแต่งงานแค่เพียง 125 บาทเท่านั้นค่ะ แต่เนื่องจากตามความเหมาะสมแล้วควรจะมีมากกว่านั้น จึงต้องใช้คำว่าตามที่ได้ตกลงกันไว้)
และทีนี้เจ้าบ่าวจะก็ต้องทวนประโยคตอบให้เสียงดังฟังชัดและไม่ผิดเลย แค่นี้ก็ถือว่าเสร็จสมบูรณ์เลยค่ะ จริงๆ ไฮไลท์ของพิธีมีแค่เท่านี้เลย หลังจากนั้นเจ้าสาวก็จะสามารถเดินเข้าไปเจอเจ้าบ่าวแบบใกล้ๆ ได้แล้ว โดยพี่สาวหรือญาติทางฝั่งเจ้าบ่าวจะเป็นคนเดินมารับเราตรงเก้าอี้ที่นั่ง เพื่อไปยังพรมเดียวกันค่ะ
เสร็จสิ้นส่วนพิธีสำคัญ ก็จะต่อด้วยการนำสินสอดมาวาง สวมแหวน แล้วให้นำมือทั้งสองฝ่ายมาประกบกันค่ะ ประกบกันแล้วต่างคนต่างก็จะเอามือของตัวเองมาแปะที่หน้าบ้าง ทาบที่หน้าอกบ้าง เป็นการรับและให้พร แล้วจึงดื่มนมและทานอินผาลัมตามความเชื่อ เพราะเป็นน้ำและผลไม้ศักดิ์ศิทธิ์ค่ะ
ใส่สไตล์ในแบบที่เป็นตัวเอง
สำหรับเรื่องการตกแต่ง จริงๆ ทางศาสนาไม่ได้ปิดกั้นอะไรค่ะ สามารถทำได้เต็มที่เพื่อความสวยงามในการถ่ายรูป อย่างส่วนด้านล่างของมัสยิดเอง กิ๊ฟท์ก็จัดตามสไตล์ที่เราชอบเหมือนกันค่ะ คือมีโต๊ะเซ็นชื่อ มีแบ็คดรอป มีพิธีบนเวทีได้ตามปกติ
แบ็คดรอปของกิ๊ฟท์จะล้อไปกับของชำร่วย ที่มีที่มาจากความชื่นชอบของคุณเจ้าบ่าว ที่มีต่อเพลงบ้านของหัวใจ (Super Baker) ค่ะ ตัวของชำร่วยจะเป็นบ้านไม้สองสี ที่เราลงมือทาสีหลังคากันเองทั้งหมด 1,000 ชิ้น แถมยังประทับตราโลโก้ลงไปอีก สรุปว่าใช้เวลากับสิ่งนี้ไปทั้งหมด 6 เดือนค่ะ (หัวเราะ)
ส่วนแบ็คดรอป เป็นโครงบ้านจากไม้ ขึงด้วยผ้า แล้วใส่ใบไม้เข้าไปประดับ โชคดีที่กิ๊ฟท์ทำงานเบื้องหลังรายการทีวี เกี่ยวกับการตกแต่งบ้านอยู่แล้วด้วย เราเลยมีคนรู้จัก และมีอุปกรณ์พร้อมมือสุดๆ ทั้งยังได้ทีมงานมาช่วยเพิ่มเติมอีก ต้องขอขอบคุณ น้ำหวาน Zaza ที่มาเป็นพิธีกรให้ในงาน ขอบคุณทีมงาน My Home และ พี่แกละ สมบุญ กริ่งไกร สไตลิสต์มือทองระดับต้นๆ ของประเทศ ที่ได้มาร่วมด้วยช่วยกัน มา ณ ที่นี้ จนงานออกมาลงตัวสมบูรณ์จริงๆ ค่ะ
แนะนำบ่าวสาว
อย่าลืมเผื่อเวลาสำหรับซ้อมใส่ชุด และคลุมผม : ยิ่งสำหรับพิธีทางอิสลามด้วยแล้ว กิ๊ฟท์ว่าจำเป็นจริงๆ ค่ะ เพราะการแต่งตัวจะใช้เวลาค่อนข้างมาก แค่คลุมผมอย่างเดียว 3 ชั้นก็หนึ่งชั่วโมงแล้ว ถ้าเราได้ซ้อมสักหน่อย ก็จะได้ดูด้วยว่าจะคลุมแบบไหน คลุมมาถึงจุดไหนถึงจะสวย เพราะมันมีหลายสไตล์มาก และไม่ได้มีผิดมีถูก ซึ่งวันซ้อมเราก็อาจจะลองคลุมไว้สัก 2-3 แบบ แล้วถ่ายรูปออกมาลองเลือกดูว่าแบบไหนสวย วันจริงจะได้ไม่เสียเวลาด้วยค่ะ